ฮอนดูรัสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เร่งปราบแก๊งอาชญากร
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มแก๊งอาชาญากรในประเทศฮอนดูรัส แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเพราะเป็นวิธีเดียวที่จะปราบปรามแก๊งอาชญากรได้ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ตามมา เนื่องจากมาตรการพิเศษนี้อาจไปเปิดทางให้มีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ได้ โฮเซ มานูเอล เซลายา รัฐมนตรีกลาโหมฮอนดูรัส ออกมาระบุว่า จะพยายามไม่ให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น และย้ำว่าการใช้กำลังทหารและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นหนทางเดียวที่จะปราบปรามการค้ายาและแก๊งอาชญากรให้หมดไปจากประเทศ
เลือกจีนเดียว! ฮอนดูรัสตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน
สหรัฐเตรียมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 มีผล พ.ค. นี้
โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการต่อสู้กับแก๊งอาชญากรที่ก่อความรุนแรงในประเทศหลายครั้ง ทั้งขู่กรรโชกเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองจากประชาชน ค้ายาเสพติด ไปจนถึงก่อคดีฆาตกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 2 เมืองใหญ่อย่างเมืองเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของประเทศ และเมืองซานเปโดร ซูลา เพื่อปราบปรามกลุ่มอาชญากรและยาเสพติด ถือเป็นการประกาศสงครามกับแก๊งอาชญากรอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนแรกของการประกาศภาวะฉุกเฉิน แก๊งอาชญากร 39 แก๊งถูกทลาย มีสมาชิก 652 คนถูกจับกุม ขณะที่โคเคนผลึกจำนวน 43 กิโลกรัม รวมถึงโคเคนผงอีกหลายพันกรัมถูกยึดไว้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยธรรมไม่เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉินนี้ เพราะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน
ขณะที่ประชาชนมองว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ดีเพราะจะช่วยให้อาชญากรรมในประเทศลดลง รวมถึงทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
ทั้งนี้ ฮอนดูรัสเป็นหนึ่งประเทศในทวีปอเมริกากลางที่เผชิญปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
รายงานของ Human Right Watch องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนคาดว่าปัจจุบัน มีสมาชิกแก๊งอาชญากรในฮอนดูรัสอยู่ที่ประมาณ 5,000-40,000 คน แต่กว่า 4,000 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับแล้ว โดยแก๊ง MS-13 และ Barrio 18 ถือเป็นแก๊งที่มีอิทธิพลที่สุดและก่ออาชญากรรมมากที่สุดในฮอนดูรัส ทั้งการขู่กรรโชก สังหารประชาชน และค้ายาเสพติดมีรายงานว่า แก๊ง MS-13 ขู่กรรโชกพนักงานขับรถเมล์ แท็กซี่ และเจ้าของร้านค้าต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นค่าคุ้มครอง ขณะที่ช่วงต้นปี 2022 จนถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีพนักงานขนส่งถูกสังหารโดยสมาชิกในแก๊ง MS-13 มากกว่า 58 ราย นอกจากนี้ แก๊งอาชญากรรมในฮอนดูรัสได้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กและสตรี รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+ และผู้สูงอายุ ความรุนแรงของแก๊งอาชญากรรมส่งผลให้อัตราการฆาตกรรมของฮอนดูรัสสูงที่สุดในโลก เจ้าหน้าที่ความมั่นคงฮอนดูรัสรายงานว่า ฮอนดูรัสมีรายงานคดีฆาตกรรมโดยเฉลี่ย 10 คดีต่อวัน หรือ 36 คดีฆาตกรรมต่อประชาชน 100,000 คน
สำหรับการค้ายาเสพติด ฮอนดูรัสเป็นแหล่งปลูกโคคาแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ โดยในปี 2022 กองกำลังฮอนดูรัสรายงานว่าได้ทำลายต้นโคคาไปมากถึง 6 ล้าน 5 แสนต้น มากกว่าปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 531,000 ต้น นอกจากนี้ ฮอนดูรัสเป็นทางผ่านในการขนยาเสพติดอย่างโคเคนที่เหมาะเพื่อค้ายาเสพติดไปยังประเทศเม็กซิโกและสหรัฐฯ โดยในปี 2019 มีรายงานการขนส่งโคเคนผ่านทางฮอนดูรัสมากถึง 120 ตัน ความรุนแรงของแก๊งอาชญากรส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศตกต่ำ ผู้คนไม่กล้าออกนอกบ้านเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้ชาวฮอนดูรัสจำนวนมากอพยพหนีออกจากประเทศเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า มีรายงานว่า ชาวฮอนดูรัสเกือบ 800 คนเดินทางออกจากประเทศทุกวัน โดยส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปยังสหรัฐฯ
ที่ผ่านมา รัฐบาลฮอนดูรัสพยายามปราบปรามแก๊งอาชญากรและแก๊งค้ายาเสพติด แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ แก๊งอาชญากรในประเทศยังคงขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักๆ มาจากความยากจน โดยร้อยละ 59 ของประชาชนฮอนดูรัสทั้งหมดเผชิญกับความยากจน การเข้าร่วมแก๊งอาชญากรจึงเป็นเพียงหนทางเดียวในการหารายได้ของพวกเขา อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการทุจริตทางการเมือง อย่างเมื่อเดือนเมษายนในปี 2022 มีรายงานว่า ฮวน ออร์ลันโด เอร์นันเดซ อดีตประธานาธิบดีของฮอนดูรัสถูกจับในข้อหาช่วยลักลอบขนยาเสพติดเข้าสหรัฐฯ โดยแลกกับสินบนจำนวนมาก ซึ่งบ่งชี้ว่ารัฐบาลของฮอนดูรัสมีส่วนช่วยในการขนส่งยาเสพติดในประเทศ ทำให้ประธานาธิบดีซิโอมารา คาสโตร ของฮอนดูรัสที่ขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทสเมื่อปี 2022 ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าปราบปรามยาเสพติด รวมถึงปฏิรูประบบยุติธรรมที่อ่อนแอและแก้ไขปัญหาทุจริตภายในประเทศ รวมถึงปฏิรูปสถาบันตำรวจและทหารที่อาจมีพันธมิตรของแก๊งค้ายาแทรกซึมอยู่ภายใน